Rosebery, Archibald Philip Primrose, 5ᵗʰ Earl of (1847-1929)

อาร์ชิบัลด์ ฟิลิป พริมโรส เอิร์ลที่ ๕ แห่งโรสเบอรี (พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๔๗๒)

 อาร์ชิบัลด์ ฟิลิป พริมโรส เอิร์ลที่ ๕ แห่งโรสเบอรีเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สังกัดพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* โดยดำรงตำแหน่งอยู่เพียง ๑๕ เดือน เขาเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลวิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* ซึ่งดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม (Imperialism)* เพื่อให้อังกฤษครอบครองยูกันดาเป็นรัฐในอารักขา และต่อต้านนโยบายให้สิทธิปกครองตนเองแก่ไอร์แลนด์ แม้เขาจะเคยช่วยแกลดสโตน อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคเสรีนิยมผลักดันร่างกฎหมายที่จะให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิดังกล่าว

 อาร์ชิบัลด์เกิดเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ ที่กรุงลอนดอนในตระกูลขุนนางชาวสกอต เป็นบุตรชายคนโตของอาร์ชิบัลด์ พริมโรส หรือลอร์ดดัลเมนี (Lord Dalmeny) ซึ่งเป็นบุตรของเอิร์ลที่ ๔ แห่งโรสเบอรี และ เป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตสเตอร์ลิง (Stirling) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือของรัฐบาลไวส์เคานต์ เมลเบิร์น (Viscount Melbourne)* มารดาชื่อแคเทอรีน (Catherine) เป็นบุตรสาวของเอิร์ลสแตนโฮป (Earl Stanhope) เขามีฐานะเป็นทายาทสืบทอดบรรดาศักดิ์เอิร์ลเพราะบิดาเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๕๑ ดังนั้นเมื่อเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนอีตัน (Eton) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๐-๑๘๖๕ ทำให้เขามีชื่อว่าลอร์ดดัลเมนี ขณะที่ศึกษาที่วิทยาลัยไครส์เชิร์ช (Christ Church College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) เขาได้ละเมิดกฎของวิทยาลัยที่ห้ามนักศึกษาปริญญาตรีครอบครองม้าแข่ง เมื่อมีการพบว่าเขาสั่งซื้อม้าแข่งชื่อลาดาส (Ladas) เขาต้องเลือกระหว่างม้ากับการลาออก เขาเลือกอย่างหลังจึงทำให้ไม่จบการศึกษา ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เขาได้รับสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลที่ ๕ แห่งโรสเบอรีและมรดกที่ดินขนาดใหญ่ในสกอตแลนด์และได้สิทธินั่งในสภาขุนนาง

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ โรสเบอรีสมรสกับฮันนาห์ เดอ รอทซีลด์ (Hannah de Rothschild) เชื้อสายยิว ด้วยการชักนำของภรรยาเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* เธอเป็นบุตรคนเดียวของบารอนเมเยอร์ แอมเชล รอทชีลด์ (Meyer Amschel Rothschild) ซึ่งเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๗๔ และทิ้งมรดกจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ไว้ให้ทำให้เธอได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นสตรีที่รํ่ารวยที่สุดในอังกฤษ ขณะนั้น ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ฮันนาห์เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรด้วยไข้ไทฟอยด์ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ซึ่งทำให้โรสเบอรีเศร้าโศกมากจนคิดหันหลังให้กับชีวิตการเมือง แต่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* และเจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายแห่งเวลส์ (Albert, Prince of Wales) ทรงทัดทานไว้ นับแต่นั้นเขาใช้กระดาษเขียนหนังสือขอบดำเพื่อไว้ทุกข์ให้ภริยาและไม่สมรสอีกเลย

 โรสเบอรีเข้าสู่การเมืองโดยสังกัดพรรคเสรีนิยมและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักครั้งแรกจากการสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของแกลดสโตนซึ่งกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตมิดโลเทียน (Midlothian) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๘๘๐ ขณะหาเสียงแกลดสโตนได้กล่าวโจมตีนโยบายจักรวรรดินิยมของเบนจามิน ดิสเรลี นายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๘๘๐ พรรคเสรีนิยมได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด แกลดสโตนจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดที่ ๒ ของเขาขึ้นได้ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๘๐ โรสเบอรีได้ตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยโดยดูแลเกี่ยวกับสกอตแลนด์โดยเฉพาะ แต่ไม่ได้มีการระบุหน้าที่ให้ชัดเจน เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๑ จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๓ จึงลาออกเนื่องจากความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสกอตแลนด์ไม่ตรงกับแกลดสโตนมานาน อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. ๑๘๘๕ เขาก็ได้ร่วมรัฐบาลอีกโดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมุรธาธร (Lord Privy Seal) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๖ และอีกครั้งระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๙๒ - เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ โรสเบอรีดำเนินนโยบายตามรอเบิร์ต อาร์เทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอสส์เบอรี (Robert Arthur Talbot Gascoyne-Cecil, 3ʳᵈ Marquis of Salisbury)* นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยมที่ไม่วางใจในรัสเซียและฝรั่งเศสจึงร่วมมืออย่างลับ ๆ กับกลุ่มไตรภาคีอันได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี แต่นโยบายสร้างจักรวรรดินิยมอังกฤษตามแนวทางของพวกเสรีนิยมกลุ่มยูเนียนนิสต์ (Unionist) ทำให้เขาขัดแย้งกับแกลดสโตนหัวหน้าพรรคซึ่งไม่เห็นด้วยกับการขยายอำนาจในดินแดนโพ้นทะเล ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ โรสเบอรีดำเนินการให้ยูกันดาเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษขณะที่แกลดสโตนต้องการให้ถอนอิทธิพลของอังกฤษออกจากดินแดนต่าง ๆ ทั้งหมด

 เมื่อแกลดสโตนถอนตัวจากการเมืองใน ค.ศ. ๑๘๙๔ โรสเบอรีได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสรีนิยมและนายกรัฐมนตรีสืบต่อแทน ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชประสงค์ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคที่มีเซอร์วิลเลียม ฮาร์คอร์ต (William Harcourt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้นำ แต่ในเดือนมิถุนายนปีต่อมาเขาก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในคณะรัฐมนตรีได้ สภาขุนนางก็ไม่ผ่านร่างกฎหมายใด ๆ ของรัฐบาลเว้นแต่ร่างงบประมาณเท่านั้น ลอร์ดซอสส์เบอรีที่มีนโยบาย ผนวกไอร์แลนด์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมเวลาที่ลอร์ดโรสเบอรีเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง ๑ ปีเศษเท่านั้นต่อมาในวันที่ ๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ โรสเบอรีก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคและเซอร์ฮาร์คอร์ตขึ้นสู่ตำแหน่งแทน

 การที่โรสเบอรีสนับสนุนสงครามบัวร์ (Boer Wars ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๒)* และการสร้างความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษทำให้เขาแปลกแยกจากสมาชิกพรรคจำนวนมาก ในปลาย ค.ศ. ๑๙๐๕ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนพรรคเสรีนิยมได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีเฮนรี แคมป์เบลล์ แบนเนอร์แมน (Henry Campbell Bannerman)* เป็นนายกรัฐมนตรี โรสเบอรีก็แตกหักกับสมาชิกพรรคจากการที่เขาประกาศต่อต้านการให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเอง (Irish Home Rule) เขาจึงไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ในปีต่อ ๆ มายิ่งเห็นได้ชัดว่าโรสเบอรีต่อต้านการปฏิรูปแนวเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในที่สุดเขาก็หันหลังให้การเมืองกระแสหลักโดยสิ้นเชิงและหันสู่การสะสมและเขียนหนังสือ โรสเบอรีมีผลงานเขียนด้านชีวประวิติ ได้แก่ William Pitt (ค.ศ. ๑๘๙๑) Napoleon: the Last Phase (ค.ศ. ๑๙๐๐) และ Chatham (ค.ศ. ๑๙๑๐)

 อาร์ชิบัลด์ ฟิลิป พริมโรส เอิร์ลที่ ๕ แห่งโรสเบอรีถึงแก่อสัญกรรมที่เอปซอม (Epsom) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ขณะอายุ ๘๒ ปี ท่ามกลางเสียงเพลงเรือของโรงเรียนอีตันจากเครื่องเล่นจานเสียงตามที่เขาเคยขอร้องไว้ ศพของเขาฝังที่โบสถ์เล็ก ๆ ในดัลเมนี.



คำตั้ง
Rosebery, Archibald Philip Primrose, 5ᵗʰ Earl of
คำเทียบ
อาร์ชิบัลด์ ฟิลิป พริมโรส เอิร์ลที่ ๕ แห่งโรสเบอรี
คำสำคัญ
- กลุ่มยูเนียนนิสต์
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- นโยบายจักรวรรดินิยม
- แบนเนอร์แมน, เฮนรี แคมป์เบลล์
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- เมลเบิร์น, ไวส์เคานต์
- สกอตแลนด์
- สงครามบัวร์
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
- สิทธิปกครองตนเอง
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เอปซอม
- ฮาร์คอร์ต, เซอร์วิลเลียม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1847-1929
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๔๗๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-